เกี่ยวกับ Health Link
คุณเคยไหม ที่เมื่อเข้าโรงพยาบาลแห่งใหม่แล้วต้องใช้ข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเก่า ที่เมื่อพบแพทย์แล้วต้องตอบคำถามว่าตอนนี้ใช้ยาอะไรอยู่บ้างแต่เราจำไม่ได้
หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งก็เก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องเดินไปขอประวัติของตนเอง แล้วต้องให้โรงพยาบาลเขียนข้อมูลลงบนแผ่นซีดีเพื่อนำไปส่งที่อื่น ทำไมถึงส่งข้อมูลให้กันโดยตรงไม่ได้?
เราจะได้สะดวกสบายมากขึ้น และแพทย์จะได้มีข้อมูลเพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้เราได้ดีขึ้น
อะไรคือ Health Link?
Health Link จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบปัญหานี้ โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้ และผู้ป่วยสามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของตนเอง ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่จะเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเมื่อไหร่ก็ได้
นอกจากนี้ Health Link ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฉุกเฉินเป็นอย่างมากในการให้สิทธิ์แพทย์ในห้องฉุกเฉินสืบค้นข้อมูลของผู้ป่วยที่หมดสติ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นอาจจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

Health Link เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เป็นแนวคิดที่มีมานาน และมีการนำไปใช้จริงแล้วในต่างประเทศ ซึ่งถูกเรียกรวม ๆ ว่า Health Information Exchange (HIE) โดยมักจะพบในกลุ่มหรือเครือโรงพยาบาลที่ใช้ระบบสารสนเทศ (Hospital Information System หรือ HIS) แบบเดียวกัน การที่จะเกิดระบบ HIE ในระดับประเทศนั้นยากกว่าการทำ HIE เฉพาะกลุ่มมากนัก เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งใช้ระบบ HIS ต่างกัน และยังใช้มาตรฐานข้อมูลที่ต่างกันด้วย ดังนั้นการทำ HIE ในระดับประเทศจึงจำเป็นต้องมีการตกลงมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ และต้องมีการแปลงข้อมูลของแต่ละสถานพยาบาลให้เข้ากับมาตรฐานกลางก่อนที่จะส่งข้อมูลเข้ามา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการลงทุนและต้องการการผลักดันจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดขึ้นได้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดระบบ HIE ในระดับประเทศ โดยการสร้างแพลตฟอร์ม Health Link ขึ้นมา และได้กำหนดมาตรฐานกลางร่วมกับโรงพยาบาลในภาคี และมีการสนับสนุนโรงพยาบาลในด้านเครื่องมือและกระบวนการที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานดังกล่าว



ความร่วมมือกับระบบ
โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยทั้งสองฝ่ายต่างใช้จุดแข็งของตนยกระดับระบบให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพที่แลกเปลี่ยนผ่านระบบ Health Link มีความถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย
มาตรฐานข้อมูลระดับสากล
ระบบ Health Link ได้ใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) International ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก ได้รับการอัพเดทอยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศนำไปใช้ เช่น Centers for Medicare & Medicaid Services (CMS) ของสหรัฐอเมริกา
โดย FHIR นั้นง่ายต่อผู้พัฒนาสำหรับการนำไปใช้งานมาก เนื่องจาก FHIR ใช้ HTTP-based RESTful protocol ซึ่งนักพัฒนาเว็บไซต์เข้าใจกันดีว่าเป็นมาตรฐานการพัฒนาเว็ปไซต์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิด และมีตัวเลือกของการแสดงข้อมูลหลายชนิด ได้แก่ JSON, XML, และ RDF ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันที่ผู้พัฒนาอื่น ๆ พัฒนาขึ้นมาเสริม


ประโยชน์สำหรับผู้ป่วย
ผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยตนเอง ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ และแพทย์อาจสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉินเมื่อผู้ป่วยถูกนำส่งโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการและเป็นโรงพยาบาลที่ตนยังไม่เคยมีประวัติการรักษามาก่อนอีกด้วยเพราะแพทย์จะสามารถทราบถึงข้อมูลยาที่ผู้ป่วยแพ้ โรคประจำตัวที่ผู้ป่วยมี หรือข้อมูลอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ การเรียกดูข้อมูลผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินเป็นไปตามนโยบายการให้ความยินยอมที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด
ประโยชน์สำหรับแพทย์
แพทย์สามารถประหยัดเวลาในการวินิจฉัยผู้ป่วย
ในขณะเดียวกันแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่ครบถ้วนขึ้น
ทำให้สามารถตัดสินใจหรือวินิจฉัยอาการได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย

