การใช้งาน Health Link

ของแพทย์

1 เข้าไปยังเว็บไซต์ Health Link https://hie.healthlink.go.th จากนั้นกดปุ่ม “Doctor Login” เพื่อเข้าสู่ระบบด้วย เลขว. และ pin code แพทย์ของท่าน แล้วกดปุ่ม “Login” โดยท่านสามารถอ้างอิงข้อมูลการเข้าสู่ระบบจากข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไว้ผ่านระบบแพทยสภา (MD e-Service)
เพิ่มเติม
ในการ Login ใช้งานครั้งแรกระบบจะมีข้อความแจ้งเรื่องข้อกำหนดการใช้งานต่าง ๆ ขอให้ท่านอ่านรายละเอียดแล้วกดยอมรับ จึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ (เฉพาะเมื่อ Login ครั้งแรกเท่านั้น)
2 กรณีที่แพทย์สังกัดอยู่ในหลายโรงพยาบาลต้องกด “เลือก” หรือลูกศรเพื่อ เลือกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลที่กำลังทำงานอยู่ ณ เวลานั้นเสียก่อนแล้วจึงกด “ตกลง”
เพิ่มเติม
แพทย์ควรเลือกชื่อโรงพยาบาลให้ถูกต้องตรงกับที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ณ ขณะนั้น เนื่องจากในระบบมีการเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานของแพทย์ หากไม่พบชื่อโรงพยาบาลที่ท่านทำงานอยู่กรุณาติดต่อ Hospital Admin ของโรงพยาบาลนั้นเพื่อดำเนินการแก้ไขให้
3 จากนั้น ท่านจะพบหน้าค้นหาข้อมูลผู้ป่วย ให้ท่านกรอก ชื่อ นามสกุล หรือ เลขบัตรประชาชน เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ต้องการเรียกดูข้อมูลสุขภาพ โดยต้องเป็นผู้ป่วยที่ท่านกำลังให้การรักษาอยู่ จากนั้นกดปุ่ม “Enter/แว่นขยาย” หน้าจอจะแสดงผลการค้นหาที่พบ จากนั้น กดที่ข้อมูลผู้ป่วย ที่ต้องการเพื่อดูรายละเอียดประวัติการรักษา
เพิ่มเติม
หากท่านเคยค้นหาข้อมูลผู้ป่วยมาก่อนหน้านี้แล้วระบบจะแสดงข้อมูลประวัติการค้นหาขึ้นมาโดยข้อมูลส่วนนี้จะดูได้เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถกดคลิกเข้าไปที่รายชื่อเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้
4 หน้าจอจะแสดงข้อมูล Overview ของผู้ป่วยประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัวตรงแถบด้านบน และข้อมูลสุขภาพ ได้แก่ข้อมูล Allergy , ข้อมูล Vaccine และข้อมูล Visit (ตรงกลางหน้าจอ) โดยข้อมูล Visit จะเรียงลำดับตามวันที่ล่าสุดที่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งแต่ละ Visit จะประกอบไปด้วยข้อมูลหลัก 4 ส่วน คือ Diagnosis (ไอคอน Dx), Procedure (ไอคอนรูปมีด), Medication (ไอคอนยา), Lab (ไอคอนขวดทดลอง) โดยปกติแล้วท่านจะสามารถกดที่แถบ Visit ที่มีสีเขียวอ่อนเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันที แต่หาก Visit ไหนมีข้อความ “Consent Required” แสดงอยู่จะหมายความว่าโรงพยาบาลนั้นกำหนดให้แพทย์ต้องขอความยินยอมจากผู้ป่วยแบบเป็นรายครั้ง แพทย์ต้องกดปุ่ม “ขอความยินยอม” เพื่อส่งคำขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลไปยังผู้ป่วยก่อน โดยผู้ป่วยจะได้รับ pop-up notification และต้องกดให้ความยินยอมให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลตนเองผ่านแอปฯ เป๋าตัง และเมื่อผู้ป่วยให้ความยินยอมแล้วแพทย์จึงจะสามารถเข้าดูข้อมูลได้
เพิ่มเติม
ไอคอนที่เป็นสีเทาจาง ๆ หมายความว่าใน Visit นั้น ไม่มีข้อมูลนั้นอยู่
4.1 ในขณะรอผู้ป่วยให้ความยินยอมแบบรายครั้ง ปุ่ม “ขอความยินยอม” จะเปลี่ยนเป็น “ตรวจสอบความยินยอม” และข้อความ “Consent Required” จะเปลี่ยนเป็น “Waiting for Patient” ขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะมีเวลา 5 นาที ในการกดยืนยันให้ความยินยอม หากผู้ป่วยกดไม่ทันหรือกดผิดเป็นไม่ยินยอม แพทย์จะไม่สามารถเข้าดูข้อมูลผู้ป่วยที่มาจากโรงพยาบาลนั้นได้ (แต่ยังสามารถเข้าดูข้อมูลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ไม่กำหนดให้มีการขอความยินยอมรายครั้งได้)
ในกรณีที่แพทย์ต้องการกดขอความยินยอมใหม่ ให้กดปุ่ม “ตรวจสอบความยินยอม” เพื่อให้ระบบตรวจสอบและเปลี่ยนเป็นปุ่ม “ขอความยินยอม” เพื่อสามารถกดขอความยินยอมได้ใหม่อีกครั้ง
5 หลังจากที่ผู้ป่วยกดยืนยันให้เรียบร้อยแล้วผ่านทางแอปฯ เป๋าตัง ให้แพทย์กดปุ่ม “ตรวจสอบความยินยอม” เพื่ออัพเดทหน้าจอ จากนั้นแพทย์จะสามารถดูข้อมูลของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนั้นได้ทันที โดยสังเกตได้จาก Visit จะเปลี่ยนจากสีเทาในตอนแรกเป็นสีเขียวอ่อนซึ่งสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้
6 สำหรับการดูข้อมูล Visit ท่านสามารถกดปุ่ม “Expand All” เพื่อให้ระบบแสดงรายละเอียดของทุก Visit เพิ่มเติมให้อัตโนมัติ หรือกดปุ่ม “Reset All” เพื่อย่อแถบข้อมูลทุก Visit รวมถึงยกเลิกค่า Filter ต่าง ๆ ที่เลือกไว้
7 นอกจากปุ่ม “Expand All” แล้วยังสามารถกดที่บรรทัดนั้น ๆ หรือปุ่มลูกศร เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นความละเอียด โดยสามารถกดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้สำหรับข้อมูล Allergy และ Vaccine ในลักษณะเดียวกันกับข้อมูล Visit
8 ทางด้านซ้ายของหน้าจอจะมีแถบเมนูสำหรับกดเลือกดูภาพรวมข้อมูลแยกตามประเภท สามารถเลือกกดเข้าไปดูเฉพาะประเภทข้อมูลที่สนใจได้
9 ฟังก์ชันการกรองและการค้นหา
9.1 สามารถเลือกดูข้อมูลเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการได้โดยกดที่กล่อง “เลือกช่วงเวลา” เพื่อเลือกช่วงเวลาที่ต้องการ แล้วจึงกด “ตกลง” เพื่อยืนยันช่วงเวลาที่เลือกไว้ จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา” ระบบจะแสดงข้อมูลตามช่วงเวลาที่เลือกไว้
เพิ่มเติม
ค่า Default จะเป็น “ทั้งหมด” โดยเมื่อเลือกช่วงเวลาแล้วจะสามารถกดที่วันที่เพื่อเลือกวันที่ต้องการได้
9.2 สามารถเลือกดูข้อมูลเฉพาะโรงพยาบาลที่ต้องการได้โดยกดที่กล่อง “เลือกโรงพยาบาล” เพื่อเลือกรายชื่อโรงพยาบาลที่ต้องการ โดยสามารถเลือกได้มากกว่า 1 โรงพยาบาล จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา”
เพิ่มเติม
ในกล่อง “เลือกโรงพยาบาล” สามารถพิมพ์ชื่อโรงพยาบาลเพื่อค้นหารายชื่อโรงพยาบาลที่ต้องการได้
9.3 สามารถเลือกดูข้อมูลตามประเภทการเข้ารับบริการของผู้ป่วยได้ โดยกดที่กล่อง “รูปแบบบริการ” เพื่อเลือกประเภทการเข้ารับบริการที่ต้องการ ได้แก่ OPD (ผู้ป่วยนอก), IPD (ผู้ป่วยใน), และ EMER (ผู้ป่วยฉุกเฉิน) จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา”
9.4 สามารถเลือกดูข้อมูลตามประเภทข้อมูลสุขภาพได้ โดยกดที่กล่อง “ประเภทข้อมูล” เพื่อเลือกชนิดข้อมูลที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา” ระบบจะนำประเภทข้อมูลที่เลือกไว้มาแสดง
9.5 จากการเลือกดูข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นสามารถเลือกข้อมูลหลายช่องพร้อมกันเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการแบบ เฉพาะเจาะจงได้ โดยเมื่อเลือกช่องที่ต้องการครบแล้วให้กดปุ่ม “ค้นหา” ระบบจะนำข้อมูลที่ตรงตามเงื่อนไขที่เลือกไว้มาแสดง
10 เมื่อกดที่ ไอคอนแพทย์ ที่อยู่มุมขวาบนระบบจะนำเข้าสู่หน้า Doctor Management ในส่วนที่เป็น “โปรไฟล์” ซึ่งเป็นหน้าจอที่แสดงข้อมูลต่าง ๆ ของแพทย์ หากข้อมูลเบอร์ติดต่อหรืออีเมลไม่ถูกต้องแพทย์สามารถกดแก้ไขด้วยตนเองได้ทันที
11 เมื่อกดที่ ไอคอนกระดิ่ง ที่อยู่มุมขวาบน ระบบจะนำเข้าสู่หน้า Doctor Management ส่วนที่เป็นการ “แจ้งเตือน” ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงข่าวสารการแจ้งเตือนต่าง ๆ จากระบบ
12 ในหน้า Doctor Management ทางด้านซ้ายของหน้าจอจะมีแถบเมนูซึ่งสามารถเลือกกดไปยังเมนูต่าง ๆ ที่ต้องการได้ โดยเมนู “ติดต่อระบบฯ” เป็นเมนูที่มีไว้เพื่อเป็นช่องทางสำหรับใช้แจ้งปัญหาหรือสอบถามเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานระบบ รวมถึงสามารถให้คำแนะนำ/ติชมต่าง ๆ โดยสามารถกรอกข้อมูลแล้วกดส่งมาได้ตลอดเวลา ทางทีมงานจะรีบตรวจสอบและติดต่อท่านกลับโดยเร็วที่สุด
เพิ่มเติม
ข้อควรระวัง! โปรดตรวจสอบเบอร์ติดต่อและอีเมลของท่านให้ถูกต้องก่อนกด “ส่ง”
13 ในการเข้าใช้งานระบบ หากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที ระบบจะบังคับให้ออกจากระบบอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยก่อนจะหมดเวลา 1 นาที ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ทราบ หากท่านต้องการใช้งานต่อ ให้กดปุ่ม “ตกลง” หากไม่ได้กดภายใน 1 นาที ระบบจะบังคับออกทันทีและแจ้งเตือนให้ท่านเข้าระบบใหม่อีกครั้ง ตามรูปด้านล่าง